ติดตั้ง Capacitor Bank ตาม kVar ที่คำนวนแล้ว Power Factor ไม่ขึ้นตามต้องการ (Power Factor เข้าใกล้ 1) เพราะอะไร?

บทความโดย บริษัท เพาเวอร์ ควอลิตี้ ทีม จำกัด

หลายๆ ท่านที่ต้องการปรับปรุงค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ (PF.) ของระบบให้สูงขึ้น โดยทั่วไปก็ต้องการให้มีค่ามากกว่า 0.85 หรือบางท่านต้องการให้มีค่าใกล้เคียงอุดมคติ คือมีค่าเข้าใกล้ 1 มากที่สุด ส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าถ้าเราติดตั้ง Capacitor Bank ที่มีค่า kVar เพียงพอก็จะสามารถปรับค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ (PF.) ให้ใกล้ 1 มากที่สุดได้ ความเข้าใจนี้ถูกต้องสำหรับระบบที่มีค่าฮาร์มอนิกของแรงดันและกระแสต่ำมากๆ หรือไม่มีเลยเท่านั้น เพราะในระบบไฟฟ้าที่มีกระแสฮาร์มอนิกในปริมาณสูงนั้น kVar ที่เกิดจากการใส่ Capacitor Bank เข้าไปจะมีผลต่อ Displacement Power Factor ทำให้มีค่าสูงขึ้นแต่ค่า Total Power Factor หรือ True Power Factor จะไม่สามารถขึ้นสูงได้จนมีค่าเข้าใกล้ 1 ตราบใดที่ยังมีค่ากระแสฮาร์มอนิกอยู่ในระบบหรือค่า THDi มีค่าสูง ความสัมพันธ์ระหว่างค่า Displacement Power Factor ค่า Total Power Factor และค่า THDi แสดงในรูปที่ 1

รูปที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างค่า Displacement Power Factor ค่า Total Power Factor และค่า THDi

จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่า ในกรณีที่ THDi = 0 % ค่า Displacement Power Factor และ Total Power Factor จะมีค่าเท่ากัน นั่นหมายความว่าการชดเชย kVar ในกรณีนี้สามารถทำได้จน Power Factor = 1 แต่ถ้าในระบบมีปริมาณกระแสฮาร์มอนิกในระบบ เช่น THDi = 70 % การใส่ Capacitor Bank เข้าไปสามารถชดเชย Displacement Power Factor ให้มีค่าเข้าใกล้ 1 ได้ แต่ค่า Total Power Factor จะมีค่าสูงสุดได้ไม่เกิน 0.82 ( โดยประมาณจากรูปที่ 1 ) ซึ่งในกรณีนี้สำหรับประเทศไทยท่านก็ยังคงต้องเสียค่าปรับเพาเวอร์แฟคเตอร์ (PF.) ให้แก่การไฟฟ้า หากต้องการให้ค่า Total Power Factor มีค่าสูงขึ้น จำเป็นที่จะต้องลดค่ากระแสฮาร์มอนิก ออกจากระบบเพื่อให้ค่า THDi ต่ำลง

นอกจากนั้นในกรณีที่ระบบมีแรงดันและกระแสฮาร์มอนิกเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน ค่า Total Power Factor ที่เป็นไปได้สูงสุดจะมีค่าต่ำกว่ากรณีนี้ เนื่องจาก Distortion Power Factor จะมีค่าสูงขึ้น


บทความโดย บริษัท เพาเวอร์ ควอลิตี้ ทีม จำกัด

สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำ คัดลอก หรือนำไปเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัท ฯ