อยากลดค่าไฟฟ้า! ลดค่าปรับเพาเวอร์แฟคเตอร์

ใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้า บอกท่านได้

บทความโดย บริษัท เพาเวอร์ ควอลิตี้ ทีม จำกัด

ค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนนับเป็นค่าใช้จ่ายหลักประจำหรือต้นทุนที่ทุกอุตสาหกรรมต้องจ่าย โดยจะมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีตามราคาค่าเชื้อเพลิงและสถานการณ์พลังงานของประเทศและของโลก ทุกๆองค์กรที่มีนโยบายลดต้นทุนหรือลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าก็จะเป็นตัวเลือกต้นๆในการพิจารณาออกมาตรการเพื่อลดการใช้งานพลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า การเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อการอนุรักษณ์พลังงาน เช่น หลอด LED การติดตั้ง VSD เป็นต้น ทั้งหลายที่กล่าวมาล้วนมีส่วนช่วยในการลดการใช้ไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตามหลายๆ ท่านไม่ได้คิดถึงการลดการสูญเสียในระบบและค่าปรับเพาเวอร์แฟคเตอร์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากคุณภาพไฟฟ้าต่ำ ในบทความนี้เราจะยกตัวอย่างการใช้ไฟฟ้าของโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งมีศักยภาพในการลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าได้มากกว่า 2,400,000 บาท/ปี เพียงแค่ปรับปรุงค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์และคุณภาพไฟฟ้า

ตัวอย่างใบเรียกเก็บค่าไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง

จากภาพตัวอย่างใบเรียกเก็บค่าไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งที่ต้องเสียค่าปรับเพาเวอร์แฟคเตอร์ (ดูช่องสีแดง) สูงถึงเดือนละ 186,040 บาท+VAT ซึ่งเงินตรงนี้ที่ต้องจ่ายหมายความว่าระบบไฟฟ้าของท่านมีค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ต่ำกว่า 0.85 ท่านสามารถคำนวณด้วยตัวเองได้ว่าเงินจำนวนนี้มาจากไหนโดยการนำค่ากิโล-วาร์ที่ระบุไว้ในช่องสีน้ำตาล (ในที่นี้คือ 18,240) ลบด้วยผลคูณของค่าพลังไฟฟ้าที่สูงที่สุดในช่องสีน้ำเงิน (ในที่นี้คือ 24,080) กับค่า 0.6197 จากนั้นนำคำตอบที่ได้มาคูณด้วย 56.07 (อัตราค่าปรับล่าสุด เมื่อ 20 กรกฎาคม 2554) ก็จะได้ค่าปรับสีแดงที่ท่านต้องเสียเป็นเงินบาทที่ระบุในใบเรียกเก็บ

18,240 - (24,080 x 0.6197) = 3,318 (1)

3,318 x 56.07 = 18,604.26 (2)

แต่ถ้าในขั้นตอนที่ (1) ค่าที่ได้ติดลบแสดงว่าค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ของท่านสูงกว่า 0.85 และจะไม่มีค่าปรับจากการไฟฟ้า

มาถึงขั้นตอนนี้ท่านคงอยากทราบว่าค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ของระบบไฟฟ้าของท่านมีค่าเท่าไหร่ ในขั้นตอนนี้ท่านอาจต้องหาเครื่องคิดเลขที่มีฟังก์ชั่นวิทยาศาสตร์ตรีโกณมิติมาช่วยครับ ค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ของระบบไฟฟ้า คำนวณได้จาก

COS (ARCTAN(18,240 /24,080)) = 0.797 (3)

จากผลการคำนวณ (3) เราก็จะทราบว่าค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ของเราอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ 0.85 เท่าไหร่ สำหรับคำถามต่อไปคือ ถ้าเราต้องการให้ระบบไฟฟ้าของเรามีค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์มากกว่า 0.85 เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับเพาเวอร์แฟคเตอร์เราจะต้องทำอย่างไร ท่านมีคำตอบสำหรับเรื่องนี้โดยประมาณแล้ว คือตัวเลขที่ได้จาก (1) นั่นก็คือ 3,318 kvar นั่นเองครับ

หมายความว่าท่านต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่มีพิกัดการชดเชยกำลังงานรีแอคทีฟที่มีพิกัดกำลังงานไม่น้อยกว่า 3,318kvar ที่ระดับแรงดันใช้งานของท่าน หรือถ้าต้องการให้ค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์เท่ากับ 1 ก็จำเป็นต้องมีพิกัดการชดเชยเท่ากับ 18,240 kvar(สีน้ำตาล) ซึ่งท่านจะใช้อุปกรณ์ประเภทใดและพิกัดการชดเชยเท่าใดเพื่อแก้ปัญหานั้นขึ้นอยู่เงื่อนไขหลายๆอย่าง เช่น ความรุนแรงของฮาร์มอนิกในระบบไฟฟ้าของท่าน ความเร็วและความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงของโหลด ปัญหาแรงดันตกชั่วขณะที่เกิดขึ้น เป้าหมายการลดพิกัดกำลังงานของระบบ และอื่นๆ ซึ่งท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็ปไซต์ของเราหรือติดต่อวิศวกรของบริษัท Power Quality Team เรายินดีที่จะให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาของทุกท่านครับ


บทความโดย บริษัท เพาเวอร์ ควอลิตี้ ทีม จำกัด

สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำ คัดลอก หรือนำไปเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัท ฯ