บทความโดย บริษัท เพาเวอร์ ควอลิตี้ ทีม จำกัด
ในบางครั้ง ท่านที่รับผิดชอบดูแลระบบไฟฟ้าอาจเคยมีประสบการณ์ เซอร์กิตเบรกเกอร์ทริปและหลังจากสำรวจความผิดปกติของวงจรย่อยในส่วนต่างๆ แล้วพบว่าไม่มีส่วนใดเสียหายหรือทำงานผิดพลาดจนเกิดโอเวอร์โหลดอันเป็นสาเหตุให้เกิดการทริปนั้น แล้วเมื่อท่านต่อวงจรหรือสับเซอร์กิตเบรกเกอร์เข้าไปใหม่ ระบบก็สามารถทำงานต่อได้ทันทีเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น (แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกิจการหรือการผลิตของท่านคือเกิดความเสียหายจากการหยุดชะงักของเครื่องจักรและกระบวนการผลิต) ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวท่านอาจจะยอมรับได้แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งเข้า ท่านจำเป็นต้องวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางในการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก บทความนี้จะให้ข้อมูลหรือแนวทางในการวิเคราะห์ปัญหาซึ่งเกิดจากตัวเซอร์กิตเบรกเกอร์เอง โดยอุปกรณ์ประกอบระบบอื่นๆ อยู่ในสภาวะปกติ
สาเหตุที่เป็นไปได้ของเซอร์กิตเบรกเกอร์ทริปโดยไม่ทราบสาเหตุ
อายุการใช้งานและสภาพแวดล้อมในการใช้งาน แม้ว่าหน้าที่หลักของเซอร์กิตเบรกเกอร์จะทำหน้าที่ตัดและต่อวงจรเมื่อเกิดกระแสเกินตามปริมาณกระแสที่ตั้งไว้หรือกรณีแรงดันตก แรงดันเกิน และกรณีไม่ครบเฟส โดยจะมีวงจรภายในที่ทำหน้าที่ตัดสินใจว่าจะตัดวงจรเมื่อใด การที่เซอร์กิตเบรกเกอร์มีการติดตั้งใช้งานมาแล้วเป็นเวลานานมีความเป็นไปได้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในที่ทำหน้าที่ตัดสินใจการตัดวงจร จะมีการเสื่อมสภาพทำให้เกิดการทำงานผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตามปัญหาจากสาเหตุนี้จะเกิดกับเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่มีการติดตั้งใช้งานมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี ภายใต้อุณหภูมิและความชื้นปกติ นอกจากนั้นฝุ่นละอองปริมาณมากที่สามารถเข้าไปภายในตัวอุปกรณ์เซอร์กิตเบรกเกอร์ก็เป็นสาเหตุในเกิดการทำงานผิดพลาดได้เช่นกัน เนื่องจากเมื่อฝุ่นละอองรวมตัวกับความชื้นที่เกิดขึ้นบนแผงวงจรจะมีคุณสมบัติเป็นแผ่นฟิลม์บางๆ ที่มีความต้านทานไฟฟ้าอยู่ซึ่งสามารถนำกระแสไฟฟ้าได้และทำให้การรับส่งสัญญาณไฟฟ้าบนแผงวงจรผิดปกติได้ ซึ่งในกรณีนี้อาจทำการทดสอบการทำงานของเซอร์กิตเบรกเกอร์ว่าทำงานถูกต้องหรือไม่ หรืออาจพิจารณาทำการเปลี่ยนทดแทน
เคยผ่านการลัดวงจรอย่างรุนแรงในกรณีที่ระบบไฟฟ้าที่ติดตั้งเซอร์กิตเบรกเกอร์เคยมีประวัติการลัดวงจรอย่างรุนแรงมาก่อนอาจส่งผลกระทบอย่างถาวรต่อวงจรภายใน ซึ่งอาจเป็นผลจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่รุนแรงขณะที่เกิดการลัดวงจรและขณะปลดหน้าสัมผัสภายใน ซึ่งประวัติการลัดวงจรอย่างรุนแรงนี้จะต้องถูกนำมาร่วมวิเคราะห์ด้วย
มีการใช้งานภายใต้ระบบไฟฟ้าที่มีปัญหาแรงดันและกระแสฮาร์มอนิก ดังที่กล่าวมาแล้วในช่วงต้นว่าเซอร์กิตเบรกเกอร์มีฟังก์ชั่นในการป้องกันทางไฟฟ้ามากกว่าปลดวงจรเมื่อกระแสเกินพิกัดเท่านั้น นอกจากนั้นผู้ใช้งานยังสามารถตั้งระดับกระแสและแรงดันสำหรับการปลดวงจรได้ การที่เซอร์กิตเบรกเกอร์สามารถทำฟังก์ชั่นเช่นนี้ได้ ภายในจะต้องมีวงจรที่ทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณหรือขนาดของทั้งแรงดันและกระแสไฟฟ้าเพื่อที่จะนำมาเปรียบเทียบกับค่าที่ผู้ใช้งานตั้งเอาไว้ เพื่อที่จะประมวลผลและตัดสินใจปลดวงจรหรือทริปเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบโดยรวม โดยทั่วไปในการออกแบบวงจรตรวจวัดแรงดันและกระแสไฟฟ้าจะทำบนสมมุติฐานที่ว่ารูปคลื่นของแรงดันและกระแสไฟฟ้าเป็นรูปคลื่นไซน์หรือใกล้เคียงรูปคลื่นไซน์ จึงจะสามารถคำนวนค่ากระแสและแรงดันที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าระบบไฟฟ้านั้นมีปัญหาฮาร์มอนิกหรือมีความเพี้ยนของรูปคลื่นในระดับสูงเป็นไปได้ว่าวงจรตรวจวัดภายในจะตัดสินใจผิดพลาดและเกิดการทริปโดยที่ท่านไม่ทราบสาเหตุได้
ตัวออย่างรูปคลื่นแรงดัน กระแส และส่วนประกอบฮาร์มอนิกของกรณีที่ทำให้ ACB ทริปโดยเกิดจากปัญหาฮาร์มอนิก
รูปตัวอย่างระบบไฟฟ้าและ ACB ที่ทริปบ่อยเนื่องจากปัญหาฮาร์มอนิก
ในรูปตัวอย่างตู้ MDB ที่มีการใช้งาน ACB แห่งหนึ่ง พบว่าหลังจากติดตั้งเครื่องจักรที่สร้างกระแสฮาร์มอนิกเพิ่มเติมให้แก่ระบบไฟฟ้า หลังจากปรับเพิ่มพิกัดกระแสทริปของ ACB เพิ่มขึ้นจนมากกว่ากระแสใช้งานของโหลดอย่างมากแล้ว ACB ก็ยังทริปอยู่บ่อยครั้งซึ่งหลังจากตรวจสอบด้วย Power Analyzer พบว่ามีปริมาณของแรงดันและกระแสฮาร์มอนิกในปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาเหตุของการทำงานผิดพลาดของ ACB ดังกล่าว
บทความโดย บริษัท เพาเวอร์ ควอลิตี้ ทีม จำกัด
สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำ คัดลอก หรือนำไปเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัท ฯ